วัดโพธิ์ชัย
ต. เทศบาลสามผง อ. ศรีสงคราม จ. นครพนม

พิกัด

วัดโพธิ์ชัย บ้านสามผง ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า 150 ปี เดิมเป็นวัดมหานิกาย มีเจ้าอาวาสปกครองคณะสงฆ์สืบต่อกันมา จนกระทั่งถึงวาระที่พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตต หรือหลวงปู่เกิ่ง เป็นเจ้าอาวาส ท่านเกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2430 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ณ บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม เมื่ออายุ 22 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทครั้งแรกฝ่ายมหานิกาย ที่วัดโพธิ์ชัย มีพระอาจารย์คำดีเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่เกิ่ง เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนแถบลุ่มแม่น้ำสงคราม และต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าสำนักเรียนนักธรรมและบาลี และเป็นครูใหญ่ท่านแรกของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งตำบลสามผง ท่านมีสหธรรมมิกอยู่องค์หนึ่งคือพระอาจารย์สีลา อิสสโร แห่งวัดโพธิ์ชัย ตำบลวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีอายุแก่กว่าท่าน 1 ปี แต่อายุพรรษาน้อยกว่า 2 พรรษา

เมื่อปี พ.ศ. 2468 หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตตโก กับหลวงปู่สีลา อิสุสโร บ้านวาใหญ่ เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงขอเป็นลูกศิษย์และได้นิมนต์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากบ้านหนองราช อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ให้มาจำพรรษาที่บ้านสามผง

หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ชัย 4-5 พรรษา ระหว่างจำพรรษาที่นี่มีเหตุการณ์สำคัญอยู่ 2 เหตุการณ์ คือ หลวงปู่มั่นมีความห่วงโยมแม่ที่บวชเป็นชีที่อุบลราชธานีจะไม่มีคนดูแลและอุปัฏฐาก ได้ให้คนไปรับโยมแม่ที่บวชเป็นชีและสร้างกุฎิที่มองเห็นในระยะสายตา เพื่อให้โยมแม่ได้ปฏิบัติธรรมใกล้ ๆ หลวงปู่มั่น อันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อโยมแม่ อีกเรื่องหนึ่ง คือ ชุมชนสามผงเป็นชุมชนภูไทนับถือผีสางสิ่งที่มองไม่เห็น หลวงปู่มั่นได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อของชาวบ้านจากการนับถือผี มาเป็นนับถือหลักธรรมคำสอนทางศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อชาวบ้านโดยรอบวัดโพธิ์ชัยได้ยอมรับหลักธรรมพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตแล้ว หลวงปู่เกิ่งจึงได้ขอญัตติเปลี่ยนวัดโพธิ์ชัยในสังกัดฝ่ายมหานิกายมาเป็นวัดธรรมยุติ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2469 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 7 เวลา 13.24 น. ณ อุทกกะเขปสีมาหนองสามผง ที่หนองสามผง ซึ่งทำเป็นแพหรือที่เรียกว่าสิมน้ำ ในพิธีได้นิมนต์ท่านพระครูชิโนวาทธำรง (พระธรรมเจดีย์จูม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขนตยาค-โม (พระญาณวิศิษฏ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นประธานในพิธี

หลังจากที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้จำพรรษาที่บ้านสามผง เป็นเวลา 2-3 ปี บริเวณดงฟันไม้เฮือน (ดงที่นำไม้มาทำบ้าน) อยู่ติดกับคำน้ำตาเป็ด ชาวบ้านสามผงได้มาสร้างวัดขึ้นที่ดงฟันไม้เฮือน ซึ่งคือวัดโพธิ์ชัยในปัจจุบัน มีตำนานเล่าว่าระหว่างที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาที่บ้านสามผงได้มีพญานาคจากลำน้ำสงคราม มาฟังธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อยู่เป็นประจำในเวลากลางคืน ตลอดระยะเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านสามผง ท่านได้เทศนาสั่งสอนโปรดประชาชนในแถบนี้ให้ปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนา ให้ทำความดีละเว้นความชั่ว เจริญภาวนาเพื่อบุญกุศลต่อไป

ปัจจุบันบริเวณที่จำพรรษาขององค์หลวงปู่มั่น ได้จัดสร้างเป็นหอไตร ซึ่งชั้นบนมีหุ่นขี้ผึ้งครูบาอาจารย์จำลองภาพการสนทนาธรรม อาคารชั้นล่างเป็นศูนย์เรียนรู้และที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส

สถานที่สำคัญในวัดโพธิ์ชัย
1. หอพระไตร
เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องสมุดจัดเก็บความรู้ทางพุทธศาสนา รวมถึงพระไตรปิฎก เป็นที่ศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ ฆราวาส ผู้ปฏิบัติธรรม อาคารชั้นบนมีหุ่นขี้ผึ้งครูบาอาจารย์จำลองภาพการสนทนาธรรม

2. หนองสามผง
เป็นหนองน้ำซึ่งพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เป็นประธานในพิธีขอญัตติจากฝ่ายมหานิกาย เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตินิกาย ใช้แพแทนโบสถ์เนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีโบสถ์ จึงเป็นการทำพิธีในแพ ปัจจุบันเทศบาลตำบลสามผงได้สร้างสัญลักษณ์เป็นรูปปลาในแม่น้ำสงครามและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และจัดทำรถรางพานักท่องเที่ยวในการเยี่ยมชมบริเวณบ้านสามผงและบ้านศรีเวินชัยเพื่อศึกษาวิถีชีวิตชาวภูไท

ผู้ประสานงานและนักเล่าเรื่อง:
นายบดินทร์ วรรณ์วงค์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานประปา เทศบาลตำบลสามผง
โทรศัพท์ 093-328-0963

คำขวัญบ้านสามผง “พระเนาว์คู่บ้าน ถิ่นฐานงานเกษตร เขตสงครามแหล่งปลา ล้ำค่าหอพระไตร เลื่องลือไกลคนดี ถิ่นนี้คือสามผง”

บ้านสามผงเป็นหมู่บ้านเก่าสมัยอาณาจักรลานช้าง มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ตั้งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2380 - 2385 มีอายุประมาณ 159 - 170 ปี ตามประวัติความเป็นมา ชาวสามผงมีเชื้อสายมาจาก ชาวลานช้างเวียงจันทร์อพยพมาจากหนองบัวลำภู (นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน) นำโดยพระวรปัญญา หรือพระวอ พร้อมด้วยทหาร ราษฏร อพยพลงมาตามลำน้ำสงครามแล้วขึ้นมาพักที่บ้านดงพระเนาว์ หรือบ้านศรีเวินชัย ดงเจ้าจันทร์ บ้านสามผง

บ้านสามผงแต่ก่อนตั้งอยู่โนนบ้าน อยู่ที่บริเวณทุ่งนาโพธิ์ ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านสามผงในปัจจุบัน ตอนแรกบ้านสามผงมีชื่อว่า บ้านสามผ่ง บริเวณตั้งหมู่บ้านเป็นสันโนนน้ำท่วมไม่ถึงล้อมรอบสันโนนมีหนองน้ำล้อมรอบ มีน้ำตลอดทั้งปีเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุม มีพืชผักธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ มีหนองน้ำอยู่สามหนอง หนองสามผง หนองบัว หนองขา เป็นผ่งปลาที่ชุกชุม จึงเป็นที่มาของบ้านสามผ่งต่อมา ได้เพี้ยนไปจากคำว่าผ่ง เป็นบ้านสามผง และเคยได้รับการสถาปนาให้เป็นกิ่งอำเภอ ในปี พ.ศ.2469 แต่ไม่สะดวกในการคมนาคมขนส่ง ในสมัยนั้นติดต่อกันทางเรือเป็นหลัก โดยใช้แม่น้ำสงครามเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง จึงได้ย้ายกิ่งอำเภอบ้านสามผงมาตั้งที่บ้านดงพระเนาว์บ้านศรีเวินชัย ซึ่งอยู่ติดกับลำน้ำสงคราม เรียกชื่อกิ่งอำเภออากาศอำนวย เมื่อปี พ.ศ.2471 จากนั้นได้ย้ายจากบ้านศรีเวินชัยไปตั้งที่บ้านท่าบ่อสงคราม จากท่าบ่อสงครามก็มาตั้งที่อำเภอศรีสงคราม ในปัจจุบันเทศบาลตำบลสามผงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลสามผงภายใต้กรอบแนวคิด “ชุมชนท่องเที่ยว 3 ธรรม” ได้แก่

ธรรมชาติ
ได้แก่ระบบนิเวศลำน้ำสงครามป่าบุ่งป่าทามพืชผักน้ำ ปลาลุ่มน้ำสงคราม ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก

ธรรมะ
บ้านสามผง ได้มีพระฝ่ายธุดงค์กรรมฐาน เดินธุดงค์มา ในปีพ.ศ. 2466 หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เดินธุดงค์มาที่บ้านสามผง หลวงปู่เกิ่ง อธิมุตตโก ได้ศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล อย่างมากประสงค์จะมอบตัวเป็นศิษย์ของท่าน แต่ท่านหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล บอกว่าให้ไปพบกับหลวงปู่มั่น ภูริโต ก่อนตัดสินใจ

วัฒนธรรม
ท้องถิ่นบ้านสามผง ของคนลุ่มน้ำสงคราม ชาวสามผงมีวิถีชีวิตผูกพันกับลำน้ำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการทำนา การหาปลา ใส่เบ็ดใส่มอง (ดักตาข่าย) ใส่ตุ้ม ใส่โทง กินข้าวป่าตามริมน้ำสงคราม หาพืชผักน้ำหาหน่อไม้ตามป่าบุ่งป่าทาม การทำปลาร้า ปลาส้ม ปลาแห้ง ล้วนแล้วผูกพันกับสายน้ำ

ประเพณี ชาวบ้านสามผงยังรักษาปรพเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีไปวัดทำบุญ วันพระทุก 15 ค่ำ ประเพณีวันเข้าพรรษา ประเพณีบุญผะเหวต (บุญมหาชาติ) วันที่ 18-19 เมษายนทุกปี ประเพณีกินดอง (แต่งงาน) ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน เดือน 9 ประเพณีบุญกองข้าว เป็นต้น


วัดเกาะแก้วอัมพวัน วัดป่าสุทธาวาส

รูปภาพ


ดูเส้นทางท่องเที่ยวแนะนำ


ชุมชนและที่พัก




พรรชิมาโฮมสเตย์
เป็นบ้านพักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ผู้แสวงบุญ หรือนักท่องเที่ยว โดยอาจารย์พรรชิมา ติ-ยะบุตร (อาจารย์ปึ้ง) อดีตอาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเจ้าของโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นคนหมู่บ้านสามผง เมื่อเกษียณอายุได้จัดบ้านของตนเองเป็นที่พักรองรับผู้ที่มีความสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมตามรอยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ห้องพักโฮมสเตย์อาจารย์ปึ้งมีทั้งหมด 4 ห้อง สามารถพักได้ห้องละ 2 – 3 คน ราคา 400 บาท/คืน รวมอาหารเช้าและกิจกรรมตักบาตรเช้า

มีกิจกรรมพาไปเรียนรู้กิจกรรมการปฏิบัติตามปฏิปทาหลวงปู่มั่นตามจุดต่าง ๆ ที่บ้านสามผงและบริเวณใกล้เคียง เช่น กิจกรรมทอเสื่อกก กิจกรรมทอผ้าขาวม้า เป็นต้น (เป็นกิจกรรม 1 วันราคา 300 บาท/วันต่อคนรวมอาหารกลางวัน)
อาจารย์พรรชิมา ติยะบุตร (อาจารย์ปึ้ง)
โทรศัพท์ 085-458-0663




ศูนย์การเรียนรู้ในการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์
ศูนย์การเรียนรู้ในการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ และมีทำปลาสงครามลุยแดด ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถซื้อไปเป็นของฝากได้

นายประวิทย์ โมทำ กำนันตำบลสามผง
โทรศัพท์ 082-124-3220




กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านสามผง หมู่ 1, 3
ทำการทอผ้าไหมส่งโครงการศูนย์ศิลปาชีพในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีสมาชิกทั้งสิ้น 22 คน

นางบุญยน ติยะบุตร (ประธานกลุ่ม)
โทรศัพท์ 081-150-3611


แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

ท่าเรือศรีเวินชัย

ห่างจากวัดโพธิ์ชัย 3 กิโลเมตร

เป็นจุดจำหน่ายสินค้าในบริเวณวัดพระเนาว์ มีผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ เช่น ผ้าซิ่น ผ้าคราม ผ้าฝ้าย ผ้าพันคอ ปลาแห้ง น้ำพริกเครื่องจักสาน และมีการแสดงและวิถีชีวิตชาวภูไท รวมทั้งเป็นจุดท่องเที่ยวที่สวยงาม สามารถถ่ายภาพโค้งน้ำของแม่น้ำสงครามได้

ผู้ประสานงาน: นายโชคทวี นะคะจัด ผู้ใหญ่บ้านศรีเวินชัย
โทรศัพท์ 084-787-8347

วัดพระเนาว์

ห่างจากวัดโพธิ์ชัย 3 กิโลเมตร

เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ แต่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อพระเนาว์ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทรายโบราณมีอายุหลายร้อยปี ไม่ปรากกฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2441 ระหว่างการบูรณะสิมในยุคแรก มีคนพบเห็นดวงแก้วหลายดวง หลายสี (ฉัพพรรณรังสี) เสด็จออกจากสิมพระเนาว์ ลอยไปทางทิศใต้และทิศเหนือแล้วก็เสด็จกลับคืนเข้าไปในสิมอีกอยู่เสมอ เชื่อกันว่าเป็นการแสดงอภินิหารให้ปรากกฎของพระบรมสารีริกธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นตำนานพื้นบ้านยังเล่าลือกันว่ามีเทพเจ้าเฝ้ารักษามิให้ผู้ใดล่วงล้ำเข้าไปขุดค้นหาวัตถุบริเวณสิม ต่อมามีชาวบ้านพบพระพุทธรูป 3 องค์ ได้แก่ พระเนาว์ พระบาง และพระขาว ลอยมาตามแม่น้ำถึงบริเวณน้ำวังวนท่าน้ำของหมู่บ้านศรีเวินชัย ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานไว้ในวัดพระเนาว์ ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านมีแต่ความสงบร่มเย็น ไข้ป่าทรพิษต่าง ๆ ก็เบาบางหายไป เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์หรือวันเนาว์ก็อัญเชิญลงมาสรงน้ำ ขอศีลขอพร ต่อมากำหนดเอาวันที่ 12,13,14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันจัดงานนมัสการ

หลวงพ่อพระเนาว์ มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนทั่วไป เชื่อกันว่าถ้าได้ตั้งจิตอธิษฐานในสิ่งใดก็มักจะสำเร็จสมความปรารถนา จึงมีคนมากราบไหว้ขอพรเป็นจำนวนมาก และเมื่อได้ตามความปรารถนาแล้ว มักมาแก้บนด้วยการฉายหนังกลางแปลง

วัดศรีวิชัย

ห่างจากวัดโพธิ์ชัย 3 กิโลเมตร

ตามประวัติปี พ.ศ.2491 กล่าวว่า หลวงปู่วัง ฐิติสาโร เจ้าอาวาสวัดศรีวิชัยในขณะนั้น ได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำ จำนวน 3 องค์ องค์ใหญ่มีหน้าตักกว้าง 4.5 นิ้ว สูง 7.5 นิ้ว องค์กลางหน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูง 6 นิ้ว และองค์เล็กหน้าตักกว้าง 2 นิ้ว สูง 4 นิ้ว จนถึงช่วงของหลวงปู่คำพันธ์ จันททูปโม (ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตโต) เป็นเจ้าอาวาส เกรงว่าพระพุทธรูปทองคำทั้ง 3 องค์ อาจจะถูกมิจฉาชีพแอบมาขโมย จึงมอบให้อำเภอศรีสงครามเก็บรักษาไว้ชั่วคราว ซึ่งต่อมาได้มอบให้ สภ.ศรีสงคราม นำไปเก็บรักษาอยู่ในกำปั่น ทำให้มีการกล่าวขานกันถึงพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ว่าถูกจองจำในคุกหรือพระติดคุก กระทั่งในปี พ.ศ. 2554 วัดศรีวิชัยได้ก่อสร้างมหาเจดีย์ศรีบูรพาจารย์เสร็จลุล่วง จึงได้นำพระพุทธรูปทองคำทั้ง 3 องค์ กลับคืนสู่วัด ปัจจุบันได้รับคืนแล้ว 2 องค์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 และเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ยังเหลืออีก 1 องค์ซึ่งเป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุดยังไม่ได้รับคืน ในเจดีย์จะมีรูปปั้นของครู

© บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)