ชีวประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
บุคคลสำคัญของโลก
บทบาทที่สำคัญและโดดเด่นของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่ทำให้ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็น ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ ซึ่งประวัติของท่านถือเป็นแรงบันดาลใจอันดีงามให้กับพระภิกษุสงห์และฆราวาสได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและการภาวนาเจริญสมาธิ ซึ่งกลายเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกในยุคปัจจุบัน ท่านถือเป็นองค์พระวิสุทธิบุคคล ปกิบัติดี ปฏิบัติชอบ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างอันดีงาม เป็นที่ยกย่อง ยอมรับของพุทธศาสนิกชน ทั้งประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศทั่วโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย หรือแม้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ หากแต่หากได้นำคำสอนขององค์ท่านไปปฏิบัติตาม ย่อมเกิดปฏิปทา เกิดความสงบเย็นใจให้เห็น นำมาซึ่งสันติภาพ ความสงบร่มเย็นกับใจของผู้ปฏิบัติธรรมคำสอนในทันใด ดังนั้นแม้ที่สุดย่อมนำมาซึ่งความสงบสันติสุข แด่คนทั่วโลกได้อย่างยั่งยืน

ผลงานและคุณูปการของท่านมีความประจักษ์และมีความเชื่อมโยงกับภารกิจขององค์การยูเนสโกที่มุ่งส่งเสริมในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคมและมนุษยศาสตร์ ส่งเสริมให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของประชาชน ความอดกลั้น อุดมคติ ปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ตลอดจนความเข้าใจอันดีของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะการเผยแผ่ข้อวัตรปฏิบัติให้ขยายวงกว้างสู่สังคมได้อย่างจริงจัง ทำให้มีผู้สนใจศึกษาแนวทางที่ท่านได้วางไว้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้นำความสงบ นำสันติภาพ ภายในจิตใจออกมาสู่สังคมภายนอก และแผ่ขยายสู่ประชาคมโลก และมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง และยั่งยืน (Sustainabity)

สรุปบทบาทที่สำคัญและโดดเด่นของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่มีคุณูปการต่อสังคมไทย ประชาคม โลกและอนุชนรุ่นหลัง มีดังนี้
๑. บทบาทด้านความเป็นผู้นำ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต เป็นผู้นำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคกึ่งพุทธกาล โดยการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในสายของพระธุดงคกรรมฐานด้านวิปัสสนาธุระ (เน้นการปฏิบัติเจริญสมาธิภาวนา ) เป็นผู้นำศิษยานุศิษย์ออกเผยแผ่การปฏิบัติแบบธุดงค์กรรมฐานไปในหลายๆที่ของเมืองไทย ทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคเหนือ ในยุคทีการปฏิบัติแบบธุดงค์กรรมฐานยังไม่เป็นที่ยอมรับสังคมในไทย ทั้งยังมีอุปสรรคในการเผยแผ่่อย่างมากมาย เช่น การตำหนิว่าพระทำไมไปอยู่ในป่า ไม่อยู่ในวัด เป็นต้น แต่ด้วยอาศัยความอดทนความแข็งแกร่ง ในทางกายและ ทางใจความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ความมีระเบียบ เป็นผุ้อ่อนน้อมถาอมตน เคารพในธรรมพระพุทธเจ้า ยึดถือธรรมในการปกครองพระเณรในวัด โดยเฉพาะยุ คบ้านหนองผือนาใน จ.สกลนคร สิ่งเหล่านี้ท่านได้ปฏิบัติเป็นผู้นำในทุกๆด้าน เป็นแบบอย่างแก่ศิษยานุศิษย์ มิใช่แค่การสั่งสอนอย่างเดียว แต่ท่านปฏิบัติเองเป็นแบบอย่างโดยไม่ขาดตกบกพร่อง จนทำให้ชาวบ้านนับถือผี หันมานับถือพระรัตนตรัย ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งจนเป็นที่มาของแนวปฏิบัติของพระวิปัสสนากรรมฐานมาจนในปัจจุบัน ทำให้พระวิปัสสนา กรรมฐานเป็นที่รู้จักและนับถือของชาวไทยอย่างมากมาย

๒. บทบาทด้านการเป็นครู
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ถือได้ว่าเป็นยอดบรมครู เป็นผู้สั่งสอนแนะนำลูกศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์อย่างเต็มความสามารถ อบรมสั่งสอนธรรมะอันบริสุทธิ์ให้กับบุคคล ให้รู้จักบาป บุญ ให้เว้นการกระทำชั่วให้กระทำความดี และให้รู้จักการปฏิบัติภาวนา นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา จนชำระกิเลสในใจของคนเรา อันนำมาซึ่ง ความสงบสุขได้อย่างแท้จริง โดยการสั่งสอนองค์ท่านได้สอนอย่างจริงจัง ไม่ลดละ เข้มงวดกับลูกศิษย์ให้ จริงจังในต่อการปฏิบัติภาวนา ซึ่งต่อมาลูกศิษย์ในองค์ท่าน ล้วนเป็นพระมหาเถระที่มีผู้คนเคารพกราบไหว้อย่างมากมาย ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ เช่น หลวงปู่หลุย จนุทสาโร หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฟั่น อาจาโรท่านพ่อลี ธมฺมธโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงตามหาบัว ณาณสมฺปนฺโน หลวงปู่ชา สุภทิโธ หลวงพ่อพุธ ฐานิโยหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต หลวงปู่ศรี มหาวีโร หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เป็นต้น

๓. บทบาทด้านการเป็นนักเศรษฐศาสตร์
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นำศาสตร์ของความพอเพียงมาจากพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาอันได้แก่ ความมักน้อย สันโดษ ยินดีในสิ่งที่ได้มาโดยจะสามารถดูได้ตั้งแต่การใช้บริขารในการดำเนินชีวิตเท่าที่ จำเป็น (บริขาร 8) การฉันข้าวมื้อเดียว การอาศัยในสิ่งปลูกสร้างที่ไม่หรูหรา การอยู่อย่างสมถะตามอัตภาพ เพียงเพื่อให้ได้ภาวนาพัฒนาด้านจิตใจเป็นหลัก ข้าวของเครื่องใช้อันไหนชำรุดก็ซ่อมแซม ผ้าจีวรอันไหนขาดท่านก็ปะชุนเย็บซ่อม ความเป็นอยู่ทุกอย่างในชีวิตประจำวันล้วนแต่ พึ่งตนเองพึ่งพาธรรมชาติโดยแท้ ไม่ปลูกสร้างถาวรวัตถุใด ๆ ให้สิ้นเปลือง ส่วนเรื่องลาภยศ สรรเสริญนั้น องค์ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญเลยแม่แต่น้อย

๔. บทบาทด้านนักการทูต
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต มีวาทศิลป์ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ ให้เข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้พระที่มาอยู่ศึกษาด้วยกันซึ่งแต่ละท่านมาจากต่างถิ่นสามารถอยู่ ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งฆราวาสและบรรพชิต โดยการใช้ธรรมะสั่งสอน ทำให้บุคคลเกิดความสงบ ร่มเย็น ก่อเกิดความสงบสันติแผ่กว่างออกไป สู่สังคม จากสังคมเล็ก ๆ เป็นสังคมที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ และหากนำธรรมะกระจายออกไปสู่วงกว้าง ก็จะทำให้สังคมนั้นๆ สงบสุข ร่มเย็น ความขัดแย้งหรือสงครามก็จะไม่เกิดขึ้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า องค์ท่านเป็นนักการทูตโดยแท้จริง

๕. บทบาทด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์
ในเรื่องนี้อาจกล่าวแยกได้ 2 ประเด็น คือ ทั้งแพทย์รักษากาย และแพทย์รักษาใจ ในส่วนแรกนั้นการสั่งสอนขององค์ท่าน คือการทำข้อวัตร ซึ่งข้อวัดรวมหรือขันธวัตรของพระ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพทางกายแข็งแรง และหากมีการเจ็บป่วยองค์ท่านก็เน้ นรักษาด้วยสมุทรไพรแบบง่ายๆ แต่จะเน้นฝึกให้ลูกศิษย์อดทนกับความเจ็บปวดและเป็น การฝึกฝนจิตใจของพระกรรมฐานให้เข้มแข็ง ฝ่าฝันกับทุกขเวทนาไปในตัว ในส่วนนี้จะเรียกว่า “ ธรรมโอสถ ” ก็ไม่ผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ องค์ท่านล้วนเป็นผู้พาปฏิบัติดำเนินด้วยองค์ท่านเองไม่ใช่เพียงแต่การพูดสั่งสอนเท่านั้น ส่วนการเป็นแพทย์ทางใจนั้น อันนี้ถือว่าสำคัญมาก อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นงานหลักของพระธุดงค์กรรมฐานก็ว่าได้ นั้นคือ การเน้นการรักษาใจ แก้ไขใจที่มีกิเลส ให้เป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสไม่มีความชั่วปะปนอยู่ในใจโดยการเจริญสมาธิภาวนา อบรมจิตใจตนเอง ขั้นต้น ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติมีจิตใจสงบ มีความสุขขั้นปลายคือ บรมสุขพ้นทุกข์ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ซึ่งถือเป็นยอดของคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่า การเจริญสมาธิภาวนา ได้เป็นที่ยอมรับและเผยแพร่ไปยังนานาอารยะประเทศอย่างกว้างขวาง

๖. บทบาทด้านสังคมสงเคราะห์
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้สงเคราะห์ผู้คนและสัตว์โลกโดยไม่ละเว้นเลย ทั้งบรรพชิต คฤหัสถ์ และสรรพสัตว์ร่วมโลก โดยนัยที่ท่านเมตตาจะเห็นได้ทั้งการสงเคราะห์ด้วยสิ่งของ การแบ่งปันเผื่อแผ่ให้ แก่ผู้ขาดแคลน และทั้งสงเคราะห์ด้วยการสั่งสอนด้วยธรรมะ ซึ่งถือเป็นการสงเคราะห์ที่สูงกว่าสงเคราะห์ด้วยวัตถุแบบเทียบค่าไม่ได้

นอกจากนี้ ยังถือว่า ท่านได้ สงเคราะห์ตนเองโดยการปฏิบัติจนสิ้นกิเลส ต่อถึงสงเคราะห์ผู้อื่นและสังคมโดยการอุทิศเวลาส่วนตัว ออกมาเผยแผ่สัจธรรม สั่งสอนให้คนเป็นคนดี โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด ท่านได้อุทิศเวลาตลอดชีวิตในสมณเพศขององค์ท่าน เพื่อสั่งสอนให้ทุกคนรู้แจ้งเห็นจริง และพาปฏิบัติจริง จึงมีศิษย์ยานุศิษย์มากมายแต่ในเวลาต่อมา

กล่าวโดยสรุป ในทุกบทบาทของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต ล้วนแต่เป็นการพัฒนาคนซึ่งถือได้ว่าเป็น ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของโลก เนื่องจากท่าได้พัฒนามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า มีคุณธรรม ท่านได้อบรมสั่งสอนคน ให้ถือศีล ให้ทาน และเจริญภาวนา ซึ่งถือเป็นงานทางจิตใจ จึงถือเป็นงานที่ยากกว่างานใด ๆ ท่านจึงเป็นนักพัฒนาโดยแท้ เมื่อผู้คนมีคุณธรรมย่อมทำให้สังคมสงบสุข มีสันติ มีความผาสุก นับแต่ตัวเอง สังคมครอบครัวเล็ก ๆ จนสามารถขยายออกไปสู่สังคมอันกว้างขึ้น ตลอดทั่วทั้งสังคมโลกได้ในที่สุด
© บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)