วัดเจดีย์หลวง
ต. พระสิงห์ อ. เมืองเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ 50200

พิกัด

บริเวณ “กุฏิทัณฑเขต” นี้ เป็นที่พำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สร้างถวายโดยรองอำมาตย์เอก พระทัณฑเขตประชานุการ (ทองอยู่ วาริน) พะธำมะรง ผู้บัญชาการเรือนจำมณฑลเชียงใหม่ และนางทัณฑเขตประชานุการ (สา) ภริยา เพื่อปฏิบัติศาสนกิจช่วยพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ระหว่างปี พ.ศ.2472-2474 และปี 2475 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดเจดีย์หลวงอยู่ 1 พรรษา จากนั้นจึงได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ ออกธุดงค์วิเวกตามป่าเขาในภาคเหนือเป็นเวลานานถึง 12 ปี ณ อาณาบริเวณมุมพื้นที่ลานพระธาตุเจดีย์หลวงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อ 93 ปีมาแล้ว (พ.ศ. 2469) ภายใต้ร่มเงาต้นยางนาหนุ่ม (ที่เป็นต้นยางนาใหญ่ในปัจจุบัน) แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมให้ความร่มรื่นอยู่นั้น มี “กุฏิทัณฑเขต” ตั้งอยู่

กุฏิทัณฑเขตหลังนี้ แม้จะเป็นกุฏิหลังไม่ใหญ่โตภูมิฐานประการใด แต่ถือเป็นกุฏิที่มีความสำคัญต่อวัดเจดีย์หลวงมาก เพราะเป็นกุฏิที่รองอำมาตย์เอก พระทัณฑเขตประชานุการ (ทองอยู่ วาริน) พะธำมะรง ผู้บัญชาการเรือนจำมณฑลเชียงใหม่ และนางทัณฑเขตประชานุการ (สา) ภริยา สร้างถวายหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต พระวิปัสสนาจารย์ หรือพระอาจารย์ใหญ่ ผู้นำพระป่ากรรมฐาน เป็นที่พำนัก ทั้งช่วงก่อนและช่วงหลวงปู่มั่นได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูวินัยธร” ฐานานุกรมของพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เมื่อพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์กลับไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯดังเดิม เมื่อ พ.ศ. 2473 หลวงปู่มั่นได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงแทนเมื่อปี พ.ศ.2475 นั้น ท่านอาศัยอยู่ในกุฏิทัณฑเขตหลังดังกล่าว

ช่วงปฏิบัติหน้าที่อยู่วัดเจดีย์หลวง จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี พ.ศ.2475 หลวงปู่มั่นได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ ตามสำเนาตราตั้งที่ ๒๑๖/๒๔๗๕ ความตอนหนึ่งว่า

“สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ พระปรมินทรมหาประชาธิปก ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก มีพระบรมราชประสงค์จะทรงบำรุงพระพุทธศาสนา จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่คณะสงฆ์ให้ตั้งพระอุปัชฌาย์ไว้ จะได้ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรทั้งหลาย สืบอายุพระพุทธศาสนาฯ บัดนี้ หยั่งทราบว่า พระครูวินัยธร (มั่น) ภูริทตฺโต วัดเจดีย์หลวง มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการสงฆ์ จังหวัดเชียงใหม่ อายุ ๖๒ ปี พรรษา ๓๙ ประกอบด้วยสุปฏิบัติและคุณธรรมนำให้เกิดความเลื่อมใสและความนับถือของพุทธบริษัท เป็นผู้เห็นแก่พระพุทธศาสนา มีอุตสาหะและสามารถพอจะฝึกสอนภิกษุผู้เป็นนิสสิต และเข้าใจวิธีอุปสมบทกรรมพอจะทำให้ถูกธรรมเนียม จึงตั้งให้พระครูวินัยธร เป็นอุปัชฌายะ มีหน้าที่ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรทั้งหลายในแขวงคณะธรรมยุตติกนิกาย จังหวัดเชียงใหม่ มณฑลพายัพ”

ทรงลงพระนามโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพ ฯ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๕ ที่วัดเจดีย์หลวง หลวงปู่มั่นได้ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่นายเกตุ มณีโชติ ชาวจังหวัดเพชรบุรี และถือว่าเป็นการให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรเป็นสัทธิวิหาริกของท่านรูปแรกและเพียงรูปเดียวนี้เท่านั้น แล้วท่านไม่อุปสมบทให้แก่ใครอีกเลย (นอกจากให้การบรรพชา)

ที่น่าสังเกตก็คือ พระเกตุตามองเห็นได้ไม่ถนัด เวลาเดินเหมือนคนขาสั้นยาวไม่เท่ากัน รูปร่างเล็ก เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายาว่า “วณฺณโก” เมื่อพรรษาอายุมากขึ้นได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัด พระครูฐานานุกรมของพระพุทธิโศภน (แหวว ธมฺมทินฺโน) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงขณะนั้น พระปลัดเกตุอยู่จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงตลอดมา มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยงานวัด ทำหน้าที่ภัณฑาคาริก ดูแลรักษาคลังสิ่งของของวัด ถือกุญแจเปิด-ปิดประตูพระวิหารและสถานที่ต่างๆ ภายในวัด พระปลัดเกตุไม่ได้ปฏิบัติรับใช้ใกล้ชิดพระอาจารย์มั่น แต่พระปลัดเกตุได้ไปร่วมงานถวายเพลิงศพท่าน ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร คณะกรรมการแบ่งอัฐิธาตุ ได้มอบอัฐิธาตุพระอาจารย์มั่นให้พระปลัดเกตุส่วนหนึ่ง เพื่อเก็บรักษาไว้ในฐานะตัวแทนของจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการแบ่งอัฐิธาตุพระอาจารย์มั่นในครั้งนั้นมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) พระพิศาลสารคุณ (อินทร์ ถิรเสวี) พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์เทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระมหาทองสุก สุจิตฺโต

ปัจจุบันอัฐิธาตุและฟันกรามพระอาจารย์มั่นที่พระปลัดเกตุเก็บรักษาไว้ ณ กุฏิจงจิตร วัดเจดีย์หลวง บรรจุไว้ในโกศแล้วประดิษฐานอยู่ในบุษบกอีกชั้นหนึ่ง ณ วิหารบูรพาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดเจดีย์หลวง สร้างไว้ใกล้บริเวณที่ตั้งกุฏิทัณฑเขต ที่หลวงปู่เคยพำนักอยู่ในอดีต) มีพระมหาเถระ ๒ รูป คือ พระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดเจดีย์หลวงน้อมรำลึกถึงพระบูรพาจารย์ทั้งสองรูปนี้เป็นหลัก ภายในพระวิหารหลวงจึงมีรูปหล่อด้วยสำริดเท่าองค์จริงของทั้งสองท่านประดิษฐานไว้ให้ได้กราบไหว้บูชา

พวกเราสำนึกในคุณูปการของท่านอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้เล่าเรื่องนี้เอง ทุกครั้งหลังไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้ว นึกถึงปฏิปทาความดีของท่าน ก็คารวะเคารพท่านอยู่เป็นนิตย์ เพราะเชื่อมั่นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีหลักปฏิบัติที่ดีเยี่ยมจะหาผู้เปรียบเทียบได้ยาก” (จากหนังสือ..พิพิธภัณฑ์กตัญญุตาสามัคคี พ.ค.๒๕๕๙)

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 - 1945 และมีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ ที่ปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ภายในวัดประมาณ 32 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา


วัดถ้ำเชียงดาว วัดป่าดาราภิรมย์

รูปภาพ


ดูเส้นทางท่องเที่ยวแนะนำ


แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา

ศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บ จัดแสดง และศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

รวบรวมและจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในล้านนา ลักษณะทางศิลปะที่ปรากฏในงานต่าง ๆ เช่น พุทธศิลป์ พิธีกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมไว้ด้วยกัน มีนิทรรศการจัดแสดง 13 ห้อง และนิทรรศการหมุนเวียน 5 ห้อง

ถนนคนเดินท่าแพ

ถนนคนเดินที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ มีสินค้ามากมาย โดยเฉพาะสินค้าพื้นเมือง สินค้าทำมือ

แก่งสะพือ

เป็นแก่งที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน กระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน แล้วเกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา

พิกัด

สามพันโบก

สามพันโบก เกิดจากแรงน้ำวนกัดเซาะ กลายเป็นแอ่งมากกว่า 3,000 แอ่ง

วนอุทยานน้ำตกผาหลวง

ประมาณ 11,375 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อ 2538

วัดศรีบุญเรือง

วัดที่หลวงปู่มั่นได้มาบรรพชาเป็นสามเณร

วนอุทยานน้ำตกผาหลวง

ประมาณ 11,375 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อ 2538

พุทธอุทยานหลวงปู่มั่น

พุทธอุทยานบ้านคำบง หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์ใหญ่ที่สุดในโลก

© บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)